ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บทคัดย่อ (Abstract) : สภาพการณ์ของภาพยนตร์ไทยในอนาคต : ศึกษาวิเคราะห์จาก ทีมงานสร้าง ผู้ชม และนักวิชาการด้านภาพยนตร์

     รัตนา จักกะพาก (2546) ได้ศึกษาเรื่องสภาพการณ์ของภาพยนตร์ไทยในอนาคต : ศึกษาวิเคราะห์จากทีมงานผู้สร้าง ผู้ชม และนักวิชาการด้านภาพยนตร์ พบว่า
     (1) สภาพการณ์ของภาพยนตร์ไทยในปัจจุบันโดยรวมมีการพัฒนาขึ้นกว่าในอดีต ทางด้านเทคนิคการผลิตเปลี่ยนแปลงดีขึ้น ส่วนทางด้านเนื้อหาของภาพยนตร์ไทยยังคงวนเวียนเป็นแบบเดิมๆ โดยมีการนำเสนอในรูปแบบใหม่บ้างแต่ยังไม่มากนัก ภาพยนตร์ไทยมีการแข่งขันในประเทศมากขึ้นในลักษณะการเร่งผลิต เร่งขาย โดยเพิ่มจำนวนภาพยนตร์ไทยอย่างมาก แต่คุณภาพด้านเนื้อหาและเทคนิคการนำเสนอยังคงเป็นแบบเดิมๆ ผู้ชมให้ความสนใจไปดูภาพยนตร์ไทยมากขึ้น ตื่นตัวที่จะติดตามภาพยนตร์ไทยมากขึ้น แนวโน้มในอนาคตของภาพยนตร์ไทยจะอยู่ในลักษณะขยายปริมาณแต่คุณภาพยังคงค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้เพราะขาดแนวทางในการพัฒนาที่มีทิศทางและนโยบายชัดเจน
     (2) ปัจจัยที่มีผลต่อสภาพการณ์ของภาพยนตร์มีดังนี้
     - นายทุน นายทุนเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการสร้างภาพยนตร์ แต่เงินทุนก็ไม่ใช่ปัจจัยที่จะมาชี้ขาดว่าเงินทุนมากจะสร้างภาพยนตร์ได้ดีหรือเงินทุนน้อยจะสร้างภาพยนตร์ได้ไม่ดี แต่จะต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การจัดการ การวางแผนงาน ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากร
     - เนื้อหาหรือบทภาพยนตร์ ความซ้ำซากด้านเนื้อเรื่องจะยังคงมีอยู่ต่อไปในวงการภาพยนตร์ไทยอย่างแน่นอน เพียงแต่จะมีการปรับเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามยุคสมัย ซึ่งสาเหตุหลักน่าจะมาจากผู้สร้างภาพยนตร์ที่สร้างภาพยนตร์ออกมาในลักษณะเดียว
     - เทคนิคและกลวิธีในการถ่ายทำ ถ้าเป็นเทคนิคการถ่ายทำต่างๆ เช่น มุมกล้อง การจัดแสง ฯลฯ จะมีการพัฒนาไปมากแต่สำหรับเทคนิคพิเศษ (Special Effect) ยังไม่มีการพัฒนาไปมากเท่าที่ควร
     - บุคลากรทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์ไทย ตัวบุคลากรทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์ไทยยังไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร เนื่องจากในอดีตไม่มีการสอนทางด้านภาพยนตร์โดยตรง หรือจำนวนบุคลากรที่มีความสามารถไม่เพียงพอต่อวงการภาพยนตร์
     - ดารานักแสดง นักแสดงไทยในปัจจุบันมักจะขาดพื้นฐานทางด้านการแสดง ไม่มีความอดทนและไม่มีความใฝ่รู้ทางด้านการแสดงเท่าที่ควร ทำให้คุณภาพที่ปรากฏออกมามีผลกระทบต่อคุณภาพภาพยนตร์
     - ผู้ชม ผู้ชมในปัจจุบันมีการตื่นตัวสนใจไปดูภาพยนตร์ไทยมากขึ้น แต่แนวภาพยนตร์ยังคงต้องการดูภาพยนตร์แนวเดิมๆ ที่เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา สัดส่วนของความต้องการความแปลกใหม่ยังจำกัดเฉพาะกลุ่มอยู่
     - การให้การสนับสนุนจากภาครัฐ รัฐบาลไทยและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ในประเทศไทยยังไม่ทุ่มเทกับวงการภาพยนตร์ไทยเท่าที่ควร ปัจจุบันกับอดีตแทบไม่ต่างกันในทางปฏิบัติและทางนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเงินทุน การระดมความคิดเพื่อพยุงหรือเสริมสร้างวงการภาพยนตร์ยังไม่ชัดเจน แต่ทั้งนี้ผู้สร้างภาพยนตร์เองก็ไม่รู้สึกว่าเป็นเงื่อนไขที่เร่งรีบด้วยความคุ้นเคยต่อสภาพที่ขาดแคลนด้านนี้มาตลอด จึงหวังพึ่งการพัฒนาในส่วน ประกอบอื่นๆ มากกว่า

ที่มา : รัตนา จักกะพาก.(2546) . สภาพการณ์ของภาพยนตร์ไทยในอนาคต : ศึกษาวิเคราะห์จาก ทีมงานสร้าง ผู้ชม และนักวิชาการด้านภาพยนตร์. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น