ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บทคัดย่อ (Abstract) : ความแตกต่างในการนำเสนอข่าวความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างหนังสือพิมพ์ไทยและหนังสือพิมพ์มาเลเซีย กรณีศึกษา เหตุการณ์ความไม่สงบ หน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

       สุธางศุรัตน์ สุบรรณรักษ์ (2549) ศึกษาเรื่อง “ความแตกต่างในการนำเสนอข่าวความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างหนังสือพิมพ์ไทยและหนังสือพิมพ์มาเลเซีย กรณีศึกษา เหตุการณ์ความไม่สงบ หน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส” ซึ่งได้ทำการวิเคราะห์ใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ แหล่งข่าว ประเด็นข่าว และภาพตัวแทน
       โดยในประเด็นแหล่งข่าวพบว่า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมีแหล่งข่าวที่ได้ถูกนำเสนอมากที่สุด (ทั้งพื้นที่และความถี่) คือ แหล่งข่าวฝ่ายที่มีอำนาจรัฐ รองลงมาคือผู้สื่อข่าว และแหล่งข่าวประเภทผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐฝ่ายตรงข้าม และแหล่งข่าวที่ไม่ปรากฏเลย คือ ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐ และกลุ่มของผู้ที่มีความคิดเห็นเป็นกลาง ส่วนหนังสือพิมพ์มาเลเซีย พบว่า แหล่งข่าวที่ถูกนำเสนอมากที่สุด คือแหล่งข่าวผู้มีอำนาจรัฐซึ่งใกล้เคียงกับผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐ รองลงมาเป็นฝ่ายประชาชน สำหรับพื้นที่ของแหล่งข่าวในหนังสือพิมพ์มาเลเซีย พบว่า แหล่งข่าวฝ่ายตรวจสอบอำนาจรัฐบาลไทยมีพื้นที่มากที่สุด และยังพบว่าหนังสือพิมพ์มาเลเซียมีการนำเสนอแหล่งข่าวที่หลากหลายมากกว่า และมีการกระจายพื้นที่และความถี่ให้แก่แหล่งข่าวหลายๆฝ่าย
      ในส่วนของประเด็นข่าว พบว่า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเน้นการนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐเป็นอย่างมาก ในขณะที่หนังสือพิมพ์มาเลเซียจะเน้นเสนอข่าวจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้มากกว่า และในส่วนของภาพตัวแทน พบว่า กลุ่มผู้ที่มีอำนาจรัฐมักถูกสะท้อนภาพเป็น “พระเอก” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ส่วนในหนังสือพิมพ์มาเลเซียมักถูกสะท้อนภาพเป็น “พวกบ้าอำนาจ” กลุ่มผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐหรือฝ่ายตรงข้ามรัฐมักถูกสะท้อนภาพเป็น “พวกไม่สร้างสรรค์” หรือ “พวกจุ้นจ้าน” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แต่ในหนังสือพิมพ์มาเลเซียไม่ปรากฏภาษาที่สะท้อนภาพคนกลุ่มนี้
      ส่วนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐและมาเลเซียต่างสะท้อนภาพเดียวกันนั่นคือ “เหยื่อ” หรือ “ผู้เคราะห์ร้าย” และส่วนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น ทั้งหนังสือพิมพ์ไทยและมาเลเซียต่างสะท้อนภาพคล้ายกัน โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐสะท้อนภาพว่าเป็น “กบฏต่อแผ่นดิน” หรือ “โจรใต้” ส่วนหนังสือพิมพ์มาเลเซียสะท้อนว่า “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” หรือ “กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง”

ที่มา : สุธางศุ์รัตน์ สุบรรณรักษ์, “ความแตกต่างในการนำเสนอข่าวความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างหนังสือพิมพ์ไทยและหนังสือพิมพ์มาเลเซีย กรณีศึกษา เหตุการณ์ความไม่สงบ หน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส,” (สารนิพนธ์ปริญญาวารสารศาสตร์บัณฑิต คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549), น. 61 – 63.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น