ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บทคัดย่อ (Abstract) : ความแตกต่างในการนำเสนอข่าวความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างหนังสือพิมพ์ไทยและหนังสือพิมพ์มาเลเซีย กรณีศึกษา เหตุการณ์ความไม่สงบ หน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

       สุธางศุรัตน์ สุบรรณรักษ์ (2549) ศึกษาเรื่อง “ความแตกต่างในการนำเสนอข่าวความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างหนังสือพิมพ์ไทยและหนังสือพิมพ์มาเลเซีย กรณีศึกษา เหตุการณ์ความไม่สงบ หน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส” ซึ่งได้ทำการวิเคราะห์ใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ แหล่งข่าว ประเด็นข่าว และภาพตัวแทน
       โดยในประเด็นแหล่งข่าวพบว่า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมีแหล่งข่าวที่ได้ถูกนำเสนอมากที่สุด (ทั้งพื้นที่และความถี่) คือ แหล่งข่าวฝ่ายที่มีอำนาจรัฐ รองลงมาคือผู้สื่อข่าว และแหล่งข่าวประเภทผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐฝ่ายตรงข้าม และแหล่งข่าวที่ไม่ปรากฏเลย คือ ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐ และกลุ่มของผู้ที่มีความคิดเห็นเป็นกลาง ส่วนหนังสือพิมพ์มาเลเซีย พบว่า แหล่งข่าวที่ถูกนำเสนอมากที่สุด คือแหล่งข่าวผู้มีอำนาจรัฐซึ่งใกล้เคียงกับผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐ รองลงมาเป็นฝ่ายประชาชน สำหรับพื้นที่ของแหล่งข่าวในหนังสือพิมพ์มาเลเซีย พบว่า แหล่งข่าวฝ่ายตรวจสอบอำนาจรัฐบาลไทยมีพื้นที่มากที่สุด และยังพบว่าหนังสือพิมพ์มาเลเซียมีการนำเสนอแหล่งข่าวที่หลากหลายมากกว่า และมีการกระจายพื้นที่และความถี่ให้แก่แหล่งข่าวหลายๆฝ่าย
      ในส่วนของประเด็นข่าว พบว่า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเน้นการนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐเป็นอย่างมาก ในขณะที่หนังสือพิมพ์มาเลเซียจะเน้นเสนอข่าวจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้มากกว่า และในส่วนของภาพตัวแทน พบว่า กลุ่มผู้ที่มีอำนาจรัฐมักถูกสะท้อนภาพเป็น “พระเอก” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ส่วนในหนังสือพิมพ์มาเลเซียมักถูกสะท้อนภาพเป็น “พวกบ้าอำนาจ” กลุ่มผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐหรือฝ่ายตรงข้ามรัฐมักถูกสะท้อนภาพเป็น “พวกไม่สร้างสรรค์” หรือ “พวกจุ้นจ้าน” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แต่ในหนังสือพิมพ์มาเลเซียไม่ปรากฏภาษาที่สะท้อนภาพคนกลุ่มนี้
      ส่วนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐและมาเลเซียต่างสะท้อนภาพเดียวกันนั่นคือ “เหยื่อ” หรือ “ผู้เคราะห์ร้าย” และส่วนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น ทั้งหนังสือพิมพ์ไทยและมาเลเซียต่างสะท้อนภาพคล้ายกัน โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐสะท้อนภาพว่าเป็น “กบฏต่อแผ่นดิน” หรือ “โจรใต้” ส่วนหนังสือพิมพ์มาเลเซียสะท้อนว่า “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” หรือ “กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง”

ที่มา : สุธางศุ์รัตน์ สุบรรณรักษ์, “ความแตกต่างในการนำเสนอข่าวความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างหนังสือพิมพ์ไทยและหนังสือพิมพ์มาเลเซีย กรณีศึกษา เหตุการณ์ความไม่สงบ หน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส,” (สารนิพนธ์ปริญญาวารสารศาสตร์บัณฑิต คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549), น. 61 – 63.

บทคัดย่อ (Abstract) : การนำเสนอข่าวต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ กรณีศึกษาเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ณ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

        วันวิสาข์ พันธุวดีธร (2548) ศึกษาเรื่อง “การนำเสนอข่าวต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ กรณีศึกษาเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ณ อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส“ โดยพบว่า หนังสือพิมพ์เดลินิวส์เป็นหนังสือพิมพ์ที่ให้ความสำคัญ และเกาะติดสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการรายงานข่าวเป็นประจำ และมักจัดให้อยู่ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เสมอ นอกจากข่าวแล้วหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ยังได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวในรูปของบทบรรณาธิการ บทความ และรายงานพิเศษต่างๆอีกด้วย แต่ทว่า แหล่งข่าวของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์มักจะเป็นแหล่งข่าวที่มาจากรัฐบาลและหน่วยงานราชการเป็นส่วนมาก ซึ่งถึงแม้จะเป็นแหล่งข่าวที่มีความน่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ แต่ก็จัดว่าเป็นข้อมูลเพียงด้านเดียวเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงทั้งหมดเสมอไป และยิ่งกว่านั้นอาจมีคำสั่งจากเบื้องบนให้ปกปิดข้อมูล หรือให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันก็ได้

ที่มา : วันวิสาข์ พันธุวดีธร, “การนำเสนอข่าวต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ กรณีศึกษาเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ณ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส,” (สารนิพนธ์ปริญญาวารสารศาสตร์บัณฑิต คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548), น. 41 – 42

บทคัดย่อ (Abstract) : ทัศนะของชาวมุสลิมที่มีต่อการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน กรณีศึกษา สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

     วนัสนันทร์ มะยูนุ (2549)  ศึกษาเรื่อง “ทัศนะของชาวมุสลิมที่มีต่อการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน กรณีศึกษา สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกชาวไทยมุสลิมจำนวน 21คน พบว่า ชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีทัศนะเกี่ยวกับเนื้อหาข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในทางลบมากกว่าทางบวก นั่นคือ เน้นแต่การนำเสนอความรุนแรง ความโหดเหี้ยม ความสูญเสีย ความต้อยต่ำ ความล้าหลัง และความงมงายในศาสนา และมีทศนะเกี่ยวกับภาพข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เน้นการนำเสนอภาพข่าวความรุนแรงของเหตุการณ์ เช่น ภาพคนตาย –บาดเจ็บ ภาพการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ภาพการทำลายล้างของระเบิด และภาพข่าวที่เน้นความต้อยต่ำ ความล้าหลัง วิถีชีวิตและความเชื่อที่แตกต่างจากชนกลุ่มอื่น และยังพบว่าสื่อมวลชนมักไม่นำเสนอประเด็นข่าวที่เปิดโอกาสให้ชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แสดงออกซึ่งทัศนะที่มีต่อสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าวอีกด้วย

ที่มา : วนัสนันทร์ มะยูนุ, “ทัศนะของชาวมุสลิมที่มีต่อการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน กรณีศึกษา สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้,” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์สารสนเทศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2549), น. บทคัดย่อ.

บทคัดย่อ (Abstract) : พฤติกรรมการเปิดรับ ความรู้และทัศนคติ ของชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในเขตกรุงเทพมหานคร ต่อการเสนอข่าวความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของสื่อมวลชน

       พิมพิดา โยธาสมุทร (2549) ศึกษาเรื่อง “พฤติกรรมการเปิดรับ ความรู้ และทัศนคติ ของชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในเขตกรุงเทพมหานคร ต่อการเสนอข่าวความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาค ใต้ของสื่อมวลชน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่า ภายหลังจากที่ผู้รับสารทั้งสองกลุ่มนั่นคือชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในเขตกรุงเทพมหานคร ได้เปิดรับข่าวสารประเด็นดังกล่าวจากสื่อมวลชนแล้ว ข่าวสารนั้นจะส่งผลต่อพฤติกรรม ความรู้ ความคิดเห็นและทัศนคติต่อผู้รับสารอย่างไรบ้าง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าภายหลังจากได้รับข่าวสารจากสื่อมวลชนแล้ว ผู้รับสารทั้งสองกลุ่มต่างมีพฤติกรรมต่อคนในสังคมตามมา โดยที่ชาวไทยพุทธส่วนใหญ่ได้รับความรู้ข่าวสารเกี่ยวกับความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้จากสื่อมวลชนเป็นที่แรกและเป็นที่เดียว ผนวกกับประสบการณ์ที่แตกต่างกันของบุคคลจึงทำให้เกิดทัศนคติ  2 แบบ คือทัศนคติด้านบวกซึ่งจะส่งผลให้บุคคลมีพฤติกรรมเข้าใจ เห็นใจ และทัศนคติด้านลบจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมต่อต้าน เหยียบหยาม และไม่ไว้ใจ ส่วนชาวไทยมุสลิมก็ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้จากสื่อมวลชนเป็นส่วนหลัก แต่ความรู้เกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรมของชาวมุสลิมนั้นได้มาจากประสบการณ์วัยเด็กและสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ส่วนทัศนคติของกลุ่มนี้มักเป็นทัศนคติเชิงบวกในแง่การสงสารเห็นใจ แต่พบว่าในส่วนของพฤติกรรมที่ได้รับจากคนในสังคมนั้น คนกลุ่มนี้ได้รับพฤติกรรมในด้านร้ายหลายระดับ เช่น การแสดงออกทางสายตา ท่าทาง น้ำเสียง ลักษณะการพูดจา การจงใจใช้คำพรุศวาส และการดูถูกเหยียดหยามต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าสื่อมวลชนเพียงการนำเสนอข้อเท็จจริง โดยลืมที่จะเสนอเรื่องราวที่ก่อให้เกิดความเข้าใจ อีกทั้งยังขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเรื่องศาสนา อัตลักษณ์ และชาติพันธุ์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่เข้าใจกันของคนในสังคมได้

ที่มา : พิมพิดา โยธาสมุทร,“พฤติกรรมการเปิดรับ ความรู้และทัศนคติ ของชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในเขตกรุงเทพมหานคร ต่อการเสนอข่าวความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของสื่อมวลชน ,” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549), น. บทคัดย่อ.